Q.1 คดีร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกที่สามารถยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งพระโขนงได้
A
- ต้องเป็นกรณีที่ผู้ตายซึ่งเป็นเจ้ามรดกมีภูมิลำเนาตามทะเบียนบ้านขณะถึงแก่ความตายอยู่ใน 1)เขตประเวศ หรือ 2)เขตสวนหลวง หรือ 3)บางนา หรือ 4)เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร เท่านั้น หรือ
- ต้องเป็นกรณีที่ผู้ตายซึ่งเป็นเจ้ามรดกไม่มีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทย แต่มีทรัพย์มรดกตั้งอยู่ใน 1)เขตประเวศ หรือ 2)เขตสวนหลวง หรือ 3)บางนา หรือ 4)เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร เท่านั้น
Q.2 การร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกจำเป็นต้องมีทนายความดำเนินการให้หรือไม่
A การร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกที่ไม่มีผู้คัดค้านไม่จำเป็นต้องมีทนายความดำเนินการให้ก็ได้ ทายาทสามารถติดต่อเพื่อขอรับบริการได้ที่สำนักงานอัยการสูงสุด (หลักเมือง)
Q.3 หลักเกณฑ์ในการร้องขอให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด(หลักเมือง)จัดทำคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกให้
A เฉพาะกรณีที่ทายาทจัดเตรียมเอกสารครบถ้วน และทายาททุกคนให้ความยินยอมในการขอตั้งบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นผู้จัดการมรดกครบทุกคนเท่านั้น
Q.4 สำนักงานอัยการสูงสุด(หลักเมือง)ตั้งอยู่ที่ไหน และเบอร์โทรศัพท์ติดต่อคืออะไร
A ตั้งอยู่ที่อาคารหลักเมือง ชั้น 1 ถนนหน้าหับเผย กรุงเทพมหานคร 10200 (ตั้งอยู่ระหว่างศาลฎีกาและศาลหลักเมืองกรุงเทพมหานคร)เบอร์โทรศัพท์ 02-222-8121 ต่อ 102-105
Q.5 เอกสารที่ใช้ในการขอตั้งผู้จัดการมรดก มีอะไรบ้าง
A
1. บัตรประจำตัวประชาชน และทะเบียนบ้านที่ประทับตราจำหน่ายตายของผู้ตายที่เป็นเจ้ามรดก
2. มรณบัตรของผู้ตาย
3. ทะเบียนสมรสของผู้ตาย
4. หนังสือข้อมูลทะเบียนครอบครัวของผู้ตาย จะระบุถึงการสมรส, การหย่า, การรับรองบุตร, การรับบุตรบุญธรรมของเจ้ามรดก(ขอคัดได้ที่สำนักงานเขตทุกแห่ง)
5. มรณบัตรของบิดามารดาเจ้ามรดก (ขอคัดได้ที่สำนักงานเขตทุกแห่ง)
6. บัญชีเครือญาติ (ทายาท) (ทางสำนักงานอัยการจะจัดทำให้)
7. หนังสือให้ความยินยอมของทายาท(ทางสำนักงานอัยการจะดำเนินการให้พร้อมทะเบียนบ้านและบัตรประจำตัวประชาชนของทายาทผู้ให้ความยินยอมหรือในกรณีให้ความยินยอมนอกสำนักงานอัยการฯ(ตามตัวอย่างหนังสือให้ความยินยอมของทายาท)ต้องมีข้าราชการรับรองการลงลายมือชื่อพร้อมแนบสำเนาบัตรข้าราชการของผู้รับรอง
8. เอกสารเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของผู้ตาย
- กรณีเป็นสมุดบัญชีเงินฝาก ใช้หน้าที่มีชื่อเจ้าของบัญชี และยอดเงินล่าสุดที่มีการปรับสมุดแล้ว
- กรณีโฉนดที่ดิน ใช้สำเนาขนาด A4 เท่านั้น
- กรณีรถยนต์ที่ติดสัญญาเช่าซื้อ ใช้สัญญาเช่าซื้อและคู่มือรายการจดทะเบียนรถยนต์
- กรณีผู้ตายทำพินัยกรรมไว้ ให้แนบพินัยกรรม และเอกสารทั้งหมดที่เกี่ยวกับทรัพย์ที่ระบุในพินัยกรรมด้วย
9. เอกสารการเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุลของบุคคลทุกคนที่เกี่ยวข้อง (ถ้ามี)
10. กรณีทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกตายก่อนผู้ตายที่เป็นเจ้ามรดก
- ถ้าทายาทผู้นั้นเป็นโสด ให้คัดหนังสือข้อมูลทะเบียนครอบครัว เช่นเดียวกับเจ้ามรดก ตามข้อ 4
- ถ้าทายาทผู้นั้นมีผู้สืบสันดานให้เตรียมเอกสาร ตามข้อ 7
Q.6 เอกสารที่ใช้ในการยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกต่อสำนักงานอัยการสูงสุด ตาม Q.5 ต้องใช้เอกสารกี่ชุด
A ต้องใช้สำเนาเอกสารตาม Q.5 ข้อ 1 ถึง ข้อ 10 อย่างละ 3 ชุด พร้อมรับรองสำเนาถูกต้องด้วยปากกาหมึกน้ำเงินเท่านั้น
Q.7 กรณีที่ทายาทผู้ให้ความยินยอมตาม Q.5 ข้อ 7 ไม่สามารถเดินทางไปจัดทำหนังสือให้ความยินยอม ของทายาท ณ สำนักงานอัยการสูงสุดด้วยตนเองได้ จะทำอย่างไร
A ทายาทผู้ให้ความยินยอมจะต้องจัดทำหนังสือให้ความยินยอมตามเอกสารที่ลงในเว็บไซต์ศาลแพ่งพระโขนง และต้องมีข้าราชการรับรองการลงลายมือชื่อพร้อมแนบสำเนาบัตรข้าราชการของผู้รับรอง
Q.8 กรณีทายาทผู้ให้ความยินยอมอยู่ต่างประเทศและไม่สามารถเดินทางกลับมาลงลายมือชื่อให้ความยินยอมในประเทศไทยได้ สามารถดำเนินการแก้ไขอย่างไรได้บ้าง
A ทายาทผู้ให้ความยินยอม ต้องลงลายมือชื่อในหนังสือให้ความยินยอมโดยมีพยานรับรองลายมือชื่อ ดังนี้ สำหรับทายาทซึ่งอยู่ในเมืองที่มีสถานกงสุลประจำประเทศไทย ต้องให้กงสุลนั้นเป็นพยาน แต่สำหรับในเมืองที่ไม่มีสถานกงสุลประจำประเทศไทย ต้องให้เจ้าพนักงานโนตารีปับลิกหรือแมยิสเตร็ดหรือบุคคลอื่น ซึ่งกฎหมายแห่งท้องถิ่นตั้งให้เป็นผู้มีอำนาจเป็นพยานในเอกสารเช่นว่านั้น และต้องมีใบสำคัญของรัฐบาลต่างประเทศที่เกี่ยวข้องแสดงว่าบุคคลที่เป็นพยานนั้นเป็นผู้มีอำนาจกระทำการได้ ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 47 วรรคสาม
Q.9 ในกรณีที่ผู้ร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกไม่มีเอกสารมรณบัตรของบิดามารดาของผู้ตาย จะต้องทำอย่างไร
A ผู้ร้องสามารถใช้แบบรับรองรายการทะเบียนราษฎร หรือ ทร.14/1 ของบิดาหรือมารดาของผู้ตายได้ โดยสามารถขอคัดถ่ายเอกสารดังกล่าวได้ที่สำนักงานเขตทุกแห่ง
Q.10 จะต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล (ค่าขึ้นศาล) สำหรับการร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกจำนวนเท่าไหร่
A ค่าธรรมเนียมศาล (ค่าขึ้นศาล) 200 บาท
Q.11 เมื่อผู้ร้องขอให้สำนักงานอัยการสูงสุดดำเนินการยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกให้แล้วจะต้องทำอย่างไรต่อไป
A สอบถามรายละเอียดขั้นตอนวิธีการเตรียมตัวเบื้องต้นกับหน่วยงานสำนักงานอัยการสูงสุดที่รับเรื่อง และภายหลังจากยื่นเรื่องต่อสำนักงานอัยการสูงสุด (หลักเมือง) เป็นเวลา 2 เดือน หากไม่มีผู้ใดติดต่อไปยังผู้ร้อง ให้ผู้ร้องติดต่อมายังหมายเลขโทรศัพท์ 02-222-8121 ต่อ 102-105, 113 เพื่อสอบถามสถานะคดี
Q.12 เมื่อมีการยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกต่อศาลแพ่งพระโขนงและศาลจะนัดไต่สวนคำร้องนั้น การเตรียมพยานหลักฐานของผู้ร้องในวันนัดไต่สวนคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกทำอย่างไร
- ให้ผู้ร้องหรือพยานมาศาลตามกำหนดวันและเวลาที่ได้นัดหมายไว้
- นำต้นฉบับเอกสารที่ประสงค์จะอ้างเป็นพยานหลักฐานทั้งหมดมาแสดงต่อศาลในวันนัด
Q.13 จะได้รับคำสั่งศาลที่มีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกและได้รับหนังสือรับรองคดีถึงที่สุดเมื่อใด
A ภายหลังจาก 10 วันทำการ นับแต่วันที่มีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดก ผู้ร้องสามารถโทรศัพท์ติดต่อสอบถามเบื้องต้น ส่วนบริการประชาชนและประชาสัมพันธ์ศาลแพ่งพระโขนงว่า สามารถคัดถ่ายคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกได้หรือไม่ ที่โทรศัพท์สอบถามที่เบอร์ 02-745-5901-9 ต่อ 240, 241 และเมื่อพ้นกำหนด 1 เดือนนับแต่วันที่นัดไต่สวนและมีคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดก ผู้ร้องสามารถยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ออกหนังสือรับรองคดีถึงที่สุดได้
Q.14 ค่าใช้จ่ายในการขอคัดถ่ายคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกและหนังสือรับรองคดีถึงที่สุดมีจำนวนเท่าไหร่
- ค่ารับรองคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดก ฉบับละ 50 บาท
- ค่าหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด ฉบับละ 50 บาท
Q.15 ระยะเวลาในการรับเอกสารที่ขอคัดถ่าย
A สำหรับคำสั่งตั้งผู้จัดการมรดกผู้ร้องสามารถรับเอกสารในวันที่ยื่นขอคัดถ่ายได้ ส่วนหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด ผู้ร้องสามารถสอบถามได้ที่งานเก็บสำนวนคดีแดง โทรศัพท์หมายเลข 02-745-5901-9 ต่อ 281, 282